บทความอื่นๆ

บ้านแบบไหนถึงจะเหมาะกับการติดตั้งโซลาร์

การติดโซลาร์เซลล์ที่บ้านคุ้มค่าจริงไหม? 5 ข้อที่ควรรู้ก่อนที่จะตัดสินใจติดโซลาร์

1. รู้ปริมาณและพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของตัวเอง

ก่อนจะตัดสินใจว่าจะติดตั้งโซลาร์เซลล์หรือไม่ และถ้าติดจะต้องติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาดเท่าไหร่ถึงจะพอใช้งาน คุณต้องสำรวจและสังเกตพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าและช่วงเวลาในการใช้ไฟฟ้าของตัวเอง อย่างเช่น บ้านที่มีการใช้ไฟมากในช่วงกลางวัน มีผู้สูงอายุอยู่ที่บ้าน มีการทำงานที่บ้าน หรือแม้แต่โฮมออฟฟิต ที่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้า ในตอนกลางวัน อาจจะเป็นอัตราส่วน 50/50 กับเวลากลางคืน ถ้าคุณมีพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าลักษณะแบบนี้ โซลาร์เซลล์ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกของการประหยัดค่าไฟในช่วงเวลากลางวัน แต่ถ้าในทางกลับกันบ้านที่ไม่ค่อยมีคนอยู่ช่วงกลางวัน เพราะต้องออกไปทำงานข้างนอก แล้วกลับมาใช้ไฟเยอะในช่วงกลางคืน แบบนี้ถ้าติดโซลาร์เซลล์เพื่อลดค่าไฟก็อาจลดได้ไม่มากนัก

ตอนกลางคืนโซลาร์เซลล์ใช้งานได้หรือไม่??

คำตอบคือใช้งานได้ เมื่อมีแบตเตอรี่เข้ามาพ่วง เพื่อสำรองไฟเก็บไว้ใช้ในเวลากลางคืน แต่ ณ ปัจจุบันนี้ ต้องแจ้งตรงๆว่า ราคาแบตเตอรี่ในตลาดนั้นยังค่อนข้างสูงมาก เกือบถึง 2 เท่าตัว ถ้าเทียบกับระบบโซลาร์เซลล์ออนกริด

2. เช็กความพร้อมของบ้าน ความแข็งแรงของหลังคา

แผงโซลาร์เซลล์ 1 แผงมีน้ำหนักอยู่ประมาณ 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ซึ่งเมื่อเราไปวางบนหลังคา ถือว่าหลังคาและโครงสร้างของบ้านจะต้องพร้อมรับน้ำหนักแผงโซลาร์เซลล์ ที่หนักเพิ่มขึ้น เป็นเวลาถึง25ปี (ตามอายุการใช้งานของแผง)

ดังนั้นก่อนที่จะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ คุณอาจต้องประเมินสภาพหลังคาเพื่อซ่อมแซมโครงสร้างบ้านให้แข็งแรง หรือเปลี่ยนหลังคาใหม่เสียก่อน ซึ่งค่าเปลี่ยนหลังคาหรือเสริมโครงสร้างก็เป็นอีกหนึ่งในค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนในการติดตั้งSolar Rooftop แต่ก็นับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะนอกจากได้ใช้ไฟจากโซลาร์แล้ว ยังเป็นการปรับปรุงให้บ้านแข็งแรงขึ้นไปในตัวด้วยเลย

นอกเหนือจากความแข็งแรงของบ้านแล้ว เมื่อวิศวกรไปประเมินเพื่อสำรวจหน้างาน ทีมงานจะต้องดูองค์ประกอบอื่นด้วย เช่น ทิศที่ตั้ง หรือสภาพแวดล้อมรอบๆ ที่อาจส่งผลต่อปริมาณการรับแสงอาทิตย์ เพื่อออกแบบให้แผงสามารถรับแสงได้ในมุมที่ดีที่สุด ไม่อยู่ในมุมอับ ไม่มีเงามาบัง

3. มีความพร้อมรับมือกับการลงทุนและสามารถรอจุดคุ้มทุนได้

ถึงแม้ว่าการติดตั้งโซลาร์เซลล์จะช่วยประหยัดค่าไฟรายเดือนได้ แต่เมื่อหักลบกับค่าใช้จ่ายทั้งหลายแล้ว อาจต้องใช้เวลา 3 -10 ปีกว่าจะคืนทุน โซลาร์เซลล์ขนาดครัวเรือนเป็นงานติดตั้งที่ใช้เงินทุนประมาณ 100,000 – 500,000 บาทขึ้นไปต่อ 1 อาคาร อีกทั้งยังมีค่าธรรมเนียมการขออนุญาตกับการไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ค่าซ่อมบำรุงทำความสะอาดแผง เป็นต้น ดังนั้นจึงเหมาะกับกลุ่มคนที่มีกำลังจ่าย และพร้อมที่จะรอได้ในระยะยาวกว่าจะถึงจุดคุ้มทุน

4. รับมือกับการจัดการและดูแลได้

งานติดตั้งโซลาร์เซลล์ จะต้องมีการยื่นเรื่องกับการไฟฟ้า และหน่วยงานภาครัฐต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อขออนุญาตติดตั้ง ลูกค้าจะต้องเตรียมเอกสาร และต้องพร้อมรับมือกับขั้นตอนต่างๆ มากมายที่อาจใช้เวลาพอสมควรในแต่ละขั้นตอน

หลังจากติดตั้งแล้วก็ต้องพร้อมดูแลระยะยาวด้วย เช่น คอยดูแลล้างทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์ไม่ให้มีสิ่งสกปรก ฝุ่นผง หรือกิ่งไม้ใบไม้มาปกคลุม เพื่อให้แผงสามารถรับความเข้มจากแสงอาทิตย์มาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าได้อย่างดี รวมถึงหมั่นตรวจเช็กสายไฟและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อไม่ให้เสียหาย ยืดอายุการใช้งานให้นานๆ

5. มีความสนใจพลังงานทดแทนและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

โซลาร์เซลล์ เป็นพลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์ ซึ่งจัดว่าเป็นพลังงานสะอาด ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แถมยังช่วยลดการใช้พลังงานจากทรัพยากรที่ไม่สามารถหมุนเวียนใช้แล้วหมดไปได้ เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาในขั้นตอนการผลิตพลังงานด้วย

Scroll to Top